ปีหน้า … ฟ้าใหม่ ….เราจะวางแผนชีวิตยังไงดี ?
ธันวาคมเป็นเดือนที่พิเศษ เพราะเป็นเดือนสุดท้ายที่คั่นกลางอยู่ระหว่าง 11 เดือนที่ผ่านมา และ 11 เดือนที่กำลังจะมาถึง เป็นช่วงเวลาที่ Perfect สำหรับการหยุดหาเวลาว่างให้กับตัวเอง
ทำ 3 สิ่งที่เราอาจจะไม่มีโอกาสทำระหว่างปี คือ
– มองย้อนไปข้างหลัง ทบทวนประสบการณ์
– มองไปข้างหน้า วางแผนอนาคต
– หยุดอยู่กับปัจจุบัน และขอบคุณตัวเอง
วันนี้ น้อง Fuku จะมาเล่าถึงการตั้งเป้าหมายของชีวิตแต่ละเรื่องว่ามีความสำคัญอย่างไร เริ่มต้นตั้งค่าเป้าหมายอย่างไร แล้วเราจะสามารถทำเป้าหมายทุกเรื่องได้สำเร็จอย่างไร? เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองใช้เวลาอย่างไม่มีจุดหมาย มีหลักคิดง่ายๆ 3 ข้อ ที่เราสามารถนำมายืดหยุ่นและปรับใช้เป็นหลักปฏิบัติในการตั้งเป้าหมายและวางแผนเวลาสำหรับแต่ละปี
1.เป้าหมายที่ดี ควรมีกี่ข้อกันนะ
ความรู้สึกว่าอยากเป็น “ตัวเองที่ดีกว่า” ในทุกๆ ด้านเช่นนี้ ทำให้ทุกครั้งที่ต้องเริ่มต้นใหม่ (อย่าง ในช่วงปีใหม่) เราตั้งเป้าหมายต่อปีไว้มากมาย ในช่วงแรกที่เราพอมีไฟ ทุกอย่างอาจเป็นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม กว่าเราจะรู้ตัวอีกทีว่ามันเยอะเกินไปก็ Burn out ไปแล้ว การพยายามทำทุกอย่างพร้อมๆ กันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน!
คำถามที่ตามมาคือ เราควรตั้งเป้าหมายอย่างไร? มีเป้าหมายหลายข้อเกินไปไม่ดีจริงไหม? และจะรู้ได้อย่างไรว่าเป้าหมายไหน “สำคัญ” สำหรับเราที่สุด?
1. อย่าลืมว่า “เป้าหมาย = การกระทำเล็กๆ รวมกัน”
ในความเป็นจริงนั้น เราลืมไปว่าการจะไปถึงเป้าหมายประกอบด้วย “สิ่งที่ต้องทำ” มหาศาล! ไม่ได้มีแค่ขั้นตอนเดียว แต่ประกอบด้วยขั้นตอนอื่นๆ ดังนั้นพอเราตั้งเป้าหมายจริงๆ เราควรนึกถึง “ขั้นตอน” ของมันด้วยว่าเราจะสามารถทำได้จริงหรือเปล่า
2. ควรทำ vs อยากทำ
เป้าหมายคือสิ่งที่เราต้องการ อยากได้ หรืออยากมี ดังนั้นเราอาจเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญ โดยเขียนทุกอย่างลงไปในลิสต์ให้หมดก่อน จากนั้นก็ค่อยแบ่งประเภทว่า เป้าหมายไหน “ควรทำ” ในช่วง 1 ปีนี้และอันไหนที่ “อยากทำ”
จากนั้นให้เลือกสิ่งที่ควรทำ มาตั้งเป็นเป้าหมาย โดยอาจเลือกมาเพียง 3-5 อย่างเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยอะเกินไป และแน่นอนว่า สิ่งที่เราอยากทำก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อความสุขในการดำรงชีวิต ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อเรามากๆ เราสามารถเลือกสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดมาเพียงสักข้อก็ได้ เป้าหมายรายปีของเราอาจประกอบด้วยสิ่งที่ควรทำ 3 ข้อ และอยากทำ 1 ข้อ
2. แปรรูปเป้าหมายรายปีให้กลายเป็นเป้ารายวัน
ความสุขแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ ความสุข ณ ปัจจุบัน และความสุขที่ยังมาไม่ถึง มนุษย์ทุกคนมีกลไกในการดำเนินชีวิตที่เหมือนกัน กลไกที่ว่านั้นคือการเลือกทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน โดยมีเป้าหมายเพียง 2 อย่าง อย่างแรกคือ ทำไปเพื่อความสุข อย่างที่สองคือ ทำไปเพื่อเลี่ยงความทุกข์
การวางเป้าหมายปีใหม่ ก็คือการใช้กลไกของสมองที่ต้องการเก็บเกี่ยวความสุขทั้ง 2 ประเภท และสร้างประโยชน์สูงสุดให้ตัวเรานั่นเอง
ในชีวิตประจำวันเราทุกคนมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อผลในระยะสั้นและเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การตั้งเป้าปีใหม่คือการให้โอกาสตัวเองเลือก Project ที่ไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวกับความอยู่รอดในวันนี้ เป็นการเลือกสร้างผลงานที่มีความหมายต่อตัวตนของเราในระยะยาว และสิ่งนี้มักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในวันเดียว เช่น การฝึกภาษาอังกฤษจนคล่อง การสร้างธุรกิจเพื่ออิสระทางการเงิน
เมื่อเลือกเป้าระยะยาวของเราได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการซอยเป้าระยะยาวให้กลายเป็นเป้าหมายรายวันหรือรายอาทิตย์ เพื่อให้สมองของเราที่ชินกับการคิดถึงปัจจุบันและสิ่งที่จับต้องได้ สามารถลงมือทำได้จริงในทันที ทักษะการแปรรูปเป้าหมายรายปีให้กลายเป็นเป้ารายวัน คือวิธีคิดที่คนที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเงิน การงาน หรือเรื่องครอบครัว สามารถทำได้ดี และทำได้อย่างมีวินัยมากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ปีหน้าตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินให้ได้หนึ่งแสนบาทเพื่อเริ่มธุรกิจ เราก็จะซอยเป้าหมายนี้ออกเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องทำในแต่ละวัน และนั่นคือการเจียดเงินออกมาเก็บไว้วันละ 275 บาท ทำติดต่อกัน 365 วัน ก็จะได้เห็นเงินหนึ่งแสนบาทในบัญชีของตัวเองปลายปีตามที่ตั้งเป้าไว้
3. ลงมือและปรับแผน รวมไปถึงการปรับตัวตามแผน
คนเราเมื่อมีความคิดดีๆ ก็ต้องลงมือทำด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ ในขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะวางแผนดีเพียงใด ถ้าหากไม่ลงมือทำแล้วก็เหมือนรถที่ไม่ได้วิ่ง
มีแนวคิดหนึ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การที่เป้าหมายแข่งขันกันเอง” กล่าวคือ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการทำเป้าหมายหนึ่งให้สำเร็จ คือ เป้าหมายอื่นๆ ที่เรามี พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราทำบางอย่างได้ไม่สำเร็จสักที อาจเป็นเพราะเราเอาเวลา แรงกาย และสมาธิไปโฟกัสกับเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต
ดังนั้นหากเราเลือกแล้วว่าจะทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ควรมีอย่างแรกคือการวางแผนที่ดี และการประเมินความสำคัญเป็นประจำ (Re-evaluate) เราจะได้โฟกัสได้ถูกจุด เพราะในการทำให้สำเร็จ อาจหมายความว่าเราต้องตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่ง และทุ่มเทให้กับสิ่งอื่นน้อยลง (แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งมันไปเลยนะ) ซึ่งในช่วงที่มีการดำเนินตามแผนอาจจะต้องมีการปรับแผน เช่น การลดค่าใช้จ่ายในบางรายการ หรือการลดเพดานเป้าหมายลง ต้องทำอะไรถึงจะเรียกว่าทำตามเป้าหมายสำเร็จ? แม้ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เราตั้งใจทำตามเป้าหมายแล้ว แต่อาจขาดปัจจัยเล็กน้อยเท่านั้นที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้นเอง ไม่สำเร็จก็ตั้งค่าเป้าหมายใหม่ หาวิธีการทำให้สำเร็จ เก็บข้อแก้ไขจากครั้งก่อนมาพัฒนาเพิ่มเติม คุณต้องกำหนดตัวชี้วัด กำหนดขอบเขตระยะเวลา กำหนดเป้าหมายชัดเจนลงไป ทั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจะต้องเป็นไปได้และมีความสุขทั้งตอนนี้และในอนาคต
เรียบเรียงบทความโดย : น้อง Fuku
แหล่งที่มา : https://missiontothemoon.co/softskill-set-1-year-goals/
: https://www.finnomena.com/captainvestor/new-year-goal/
: https://themomentum.co/happy-self-help-willpower-3-thinking-method-for-successful/