• หน้าแรก
  • ผลิตภัณฑ์
  • โปรโมชัน
  • เพลินจิต
  • ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
สุขภาพและความสวย

รู้หรือไม่? การติด “โทรศัพท์มือถือ” มากไป อาจทำลายสุขภาพของคุณ โดยไม่รู้ตัว...

วันที่เผยแพร่: 01 ธ.ค. 64

ในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งดิจิทัล ที่มีทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม อุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเราแทบจะทุกด้าน และในทุกเพศทุกวัย เพราะสามารถตอบสนองความต้องการให้เราได้แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียลต่าง ๆ ดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายรูป รวมถึงทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและสะดวกสบายขึ้นนั่นเอง

เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่า...เทคโนโลยีบางอย่าง โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และตอบโจทย์เราแทบจะทุกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปแล้วก็ได้ แต่อีกด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็อาจกลายเป็นภัยใกล้ตัวที่ “แอบแฝงอันตรายต่อสุขภาพ” ของผู้ใช้งานโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรเราก็จะก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอ สมาร์ทโฟน แทบจะตลอดเวลาจนเป็นที่มาของ “โรคติดมือถือ” หรือ “โรคโนโมโฟเบีย”

โรคติดมือถือหรือโรคโนโมโฟเบีย คืออะไร

โรคโนโมโฟเบีย ชื่อเต็มมาจาก No Mobile Phone Phobia เป็นอาการหวาดกลัวเมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีความวิตกกังวล ตื่นตระหนก เมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือเวลาไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ ๆ โทรศัพท์แบตเตอรี่หมด หรืออยู่บริเวณที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรืออยู่ในสภาวะที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในสภาวะนี้ รู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด เครียด มีเหงื่อออก ตัวสั่น หรือถึงขั้นเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้เลย

 

วันนี้ทางแอดมินได้นำตัวอย่างสัญญาณอันตรายมาให้เพื่อน ๆ ทุกท่านลองสำรวจตัวเองกันสักหน่อย ว่าแต่ละคน เข้าใกล้ “โรคโนโมโฟเบีย”หรือโรคติดมือถือมากน้อยแค่ไหน หรืออาจเป็นโรคดังกล่าวแล้วโดยไม่รู้ตัว ลองมาดูว่าจะมีอะไรบ้างนะคะ

1. พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา กระวนกระวาย หงุดหงิด หากโทรศัพท์มือถือไม่ได้อยู่กับตัว

2. หมกมุ่นอยู่กับการอัพเดตข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เช็คข้อความและโพสต์ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย แม้ไม่มีเรื่องด่วน ก็จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดดูแทบตลอดเวลา

3. ให้ความสำคัญเสียงเตือนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรก หยิบดูทันที ภารกิจที่กำลังทำจะถูกพักไว้ก่อน ถ้าไม่ได้หยิบดูในทันที จะขาดสมาธิในการทำสิ่งนั้น

4. เมื่อตื่นนอน สิ่งที่จะทำอันดับแรกที่จะทำคือ หยิบโทรศัพท์มือถือ หรือก่อนนอนก็ยังหลับไปกับการเล่นโทรศัพท์มือถือ

5. เล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถเมล์ หรืออยู่บนรถไฟฟ้า เป็นต้น

6. กลัวโทรศัพท์มือถือของตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

7. ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย รู้สึกเครียด และกังวลหากโทรศัพท์มือถือแบตเตอรี่หมด

8. ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก

9. ตั้งใจจะไม่เล่นโทรศัพท์มือถือสัก 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถทำได้ ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นทุกที

และมีอีก 7 โรคภัยร้ายใกล้ตัวที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่อาจทำลายสุขภาพคุณได้โดยที่คุณไม่รู้ตัวรวมถึงแนวทางป้องกันความเสี่ยง เราควรรู้ไว้..และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ก่อนที่จะสายไปนะคะ

1. ภัยร้ายจากแสงสีฟ้า

แสงที่มนุษย์ทุกคนสามารถมองเห็นได้ในช่วงแสงสีขาว ซึ่งแสงขาวแบ่งได้ 7 สี (สีแดง ม่วง ส้ม เหลือง น้ำเงิน/ฟ้า คราม และเขียว) ถูกพบได้ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด หลอดไฟ แต่ที่ส่งผลกระทบถึงคนส่วนใหญ่มากที่สุด คือ แสงสีฟ้า โดยแสงสีฟ้าผสมอยู่ในช่วงสีน้ำเงินกับคราม และยังเป็นแสงที่มีพลังงานสูงใกล้เคียงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) อีกด้วย ทำให้เป็นหนึ่งในแสงที่สามารถเข้าไปสู่จอประสาทตาได้อย่างง่าย

เวลาที่เราใช้พวกหน้าจอโทรทัศน์ โดยผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และ แท็บเล็ตที่เรานิยมใช้กันตลอดเวลา เราจำเป็นต้องเพ่งสายตาจ้องหน้าจอที่มีแสงจ้าเหล่านั้น หากจ้องนานเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียต่อดวงตาได้หลายทาง เช่น อาการสายตาล้า ปวดตา ตาแห้ง ตามัว สำหรับเด็กเล็กอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาสั้นได้ และอาจจะทำให้เซลล์ในดวงตาตายได้ ซึ่งหนักถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นเลยทีเดียว ถ้าเราไม่ดูแลรักษาและป้องกันดวงตาของเราให้ดี

โดยอันตรายจากการมองแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือนั้น อาจเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างมาเตือน อย่างอาการเจ็บตา ระคายเคือง ตาแห้ง บางครั้งสายตาพร่ามัว ปวดกระบอกตาอยู่บ่อยๆ และอาจมีอาการโรคไมเกรนพ่วงมาด้วย อาจทำให้เกิดโรคทางสายตา เช่น เกิดอาการภาวะตาล้า (Digital Eye Strain) Computer Vision Syndrome โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรควุ้นสายตาเสื่อม หรือโรคสายตาสั้นเทียม

2. ภัยร้ายจากอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อส่วนต่าง ๆ

ลักษณะก็จะเหมือนกับคนทำงานออฟฟิศที่เราคุ้นชินกันดี คือ โรคออฟฟิคซินโดรม ซึ่งในกรณีนั้นมันเลี่ยงยากเพราะเป็นการทำงาน แต่การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีอื่นใดแบบที่หมกมุ่นอยู่ได้ทั้งวันโดยไม่ทำอะไรอื่น ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ใกล้เคียงออฟฟิศซินโดรมได้เหมือนกัน เกิดปัญหากับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ โรคทางกล้ามเนื้อกระดูก ที่เกิดจากการนั่งท่าที่ไม่เหมาะสมก็ได้เช่นกัน ที่มักจะพบประจำก็เช่น นิ้วล็อก ปวดคอ ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดไหล่ อาจจะรวมไปถึงความเสื่อมกระดูก ข้อต่อกระดูก หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอ อาการ Cellphone Elbow คือ อาการปวดชา หรือเหน็บชาบริเวณปลายแขนและมือ เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนด้วยท่าทางที่งอแขนเป็นมุมแคบกว่า 90 องศานานเกินไป

หรืออาจจะเป็นโรค RSI (Repetitive Strain Injury) ที่ทำให้เรามีอาการตึงหรือเจ็บข้อต่างๆ ได้แก่ เจ็บปวดบริเวณข้อมือ นิ้วมือ มือ แขน ข้อศอก มีอาการมือชาหรืออ่อนแรง มือไม่สามารถทำงานประสานกัน ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่เราใช้งานข้อมือนาน ๆ ซ้ำ ๆ และเป็นประจำ

3. ภัยร้ายเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร/ระบบขับถ่าย

หน้าจอทัชสกรีนของแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน รวมถึงและคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์มีเชื้อแบคทีเรียมากกว่าโถชักโครกถึง 20 เท่า แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสารพิษและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องร่วง หากเราจับอุปกรณ์พวกนั้นแล้วไม่ล้างมือ เชื้อโรคก็ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

นอกจากนี้พฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและการขับถ่าย เช่น การกินอาหารไม่ตรงเวลา กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขยับเขยื้อนร่างกายน้อย และพวกที่ชอบนั่งแช่เล่นโทรศัพท์มือถือในห้องน้ำนาน ๆ อาจทำให้มีอาการท้องผูก ท้องร่วง หรือริดสีดวงทวาร

4. ภัยร้ายเสี่ยงโรคอ้วน/โรคขาดสารอาหาร

แม้ว่าพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดโรคอ้วน แต่สำหรับผู้ที่จดจ่ออยู่แต่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยการนั่งทั้งวันไม่ยอมลุกเดินหรือขยับเขยื้อนร่างกายไปทำอย่างอื่นเลย คือปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเรื้อรังอื่น ๆ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคเกี่ยวกับหัวใจ

หรือในอีกมุมหนึ่ง การเสพติดโทรศัพท์มือถือ และมีพฤติกรรมที่นั่งเล่นหรือจดจ่ออยู่กับหน้าจอทั้งวัน ยังอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ในกลุ่มคนที่กำลังเจริญเติบโต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเล่นโทรศัพท์มือถือทั้งวันโดยไม่สนใจวันเวลาและมื้ออาหาร หรือถ้าหิวขึ้นมาก็หันไปกินอาหารประเภทสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์กับร่างกายเท่าที่ร่างกายควรได้รับ จึงทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย (อ้วนก็ขาดสารอาหารได้เช่นกัน)

5. ภัยร้ายจากเกี่ยวกับสภาพจิตใจ

มันคือความผิดปกติทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากการติดโทรศัพท์มือถือ ติดโซเชียลมีเดีย ติดเกม เทคโนโลยีมีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ขาดการควบคุม ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม มันก็มีโทษเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทางด้านอารมณ์ของคนที่ติดโทรศัพท์มือถือจนขาดไม่ได้ ความรู้สึกที่จะเกิดจขึ้นเมื่อพวกเขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ จะทำให้พวกเขากระวนกระวาย โกรธ โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย หงุดหงิด ก้าวร้าว ฯลฯ และในบางคนอาจมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และควบคุมตนเอง รวมถึงความเครียดจากการเสพข่าวสารด้านลบอยู่ตลอดเวลา

บางคนอาจอาการหนักจนเรียกได้ว่าเป็นอาการป่วย เช่น โรคอดทนรอไม่ได้ คนที่จะหงุดหงิด กระวนกระวาย ใจร้อนเวลาที่อินเตอร์เน็ตช้า จนติดมาเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์กับชีวิตจริง การเชื่อทฤษฎีสมคบคิด หลงเชื่อข่าวปลอมได้ง่าย และติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน ไม่ยอมเปิดใจรับฟังในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล มาจากการรอคอยหรือคาดหวังเสียงโทรศัพท์ หรือการตอบกลับข้อความต่าง ๆ คลั่งการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ข้อความต่าง ๆ โรคกลัวตกกระแสหรือ FOMO (Fear of Missing Out) และโรคขาดมือถือไม่ได้ หรือโนโมโฟเปีย หมกมุ่นกับการใช้โทรศัพท์มากเกินไป

6. ความเสี่ยงกับการเข้าร่วมในสังคม

เพราะอาการติดหน้าจอ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างน้อยลง แม้ว่าเราและเพื่อนจะนั่งอยู่ด้วยกัน แต่มีเรื่องคุยกันน้อยมาก เพราะต่างฝ่ายก็มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือของตนเอง แทนที่จะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้า จึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่ติดโทรศัพท์มือถือ ติดโซเชียลมีเดีย จะแยกตัวออกจากสังคม แล้วไปมีโลกส่วนตัวบนออนไลน์มากกว่า พวกเขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับใครอื่น ตราบใดที่พวกเขามีโทรศัพท์มือถืออยู่กับมือ

Pew Research Center สถาบันวิจัยจากวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำการศึกษาข้อมูลของผู้ใช้สมาร์ทโฟน พบว่า 82% ของคนส่วนใหญ่ มีปัญหาการสนทนาในชีวิตจริง เนื่องจากเลือกพิมพ์ข้อความสนทนากันมากขึ้น รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีจากการสื่อสารพูดคุย ที่มีการแสดงความรู้สึกผ่านสีหน้าท่าทางและแววตาจะหายไป สมาธิสั้น รวมถึงอ่านหนังสือน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพในการพูดคุยกันกับคนอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย ขาดการเรียนรู้การใช้ภาษาในรูปแบบอื่น เพราะการสื่อสารในโลกออนไลน์มักจะใช้แค่คำสั้น ๆ จึงมีปัญหาเวลาที่ต้องพูดคุยกับคนอื่นจริง ๆ

7. ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสมองและโรคเกี่ยวกับสมอง

การใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองได้ถึง 2 เท่า โดยมะเร็งจะเกิดกับสมองด้านที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นประจำ เป็นการ “เพิ่มความเสี่ยง” แต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้สมาร์ทโฟนจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเสมอไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือ ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ไม่ว่าจะเป็นการปิดหรือเปิดโทรศัพท์มือถือ วางโทรศัพท์มือถือคว่ำหน้าหรือหงายไว้บนโต๊ะ ไว้ใกล้ ๆ ตัว ล้วนบั่นทอนประสิทธิภาพของสมองได้ ซึ่งการวางสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ตัว ทำให้สมองส่วนหนึ่งพะวงหรือคิดถึงโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนตลอดเวลา อาจทำให้บั่นทอนพลังสมอง และอาจมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง อาจส่งผลต่อเรื่องความจำอีกด้วย

สำหรับแนวทางการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคติดมือถือ เราอาจเริ่มจากการกำหนดขอบเขตระยะเวลาในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น ห้ามหยิบโทรศัพท์มือถือหลัง 3 ทุ่ม หรือกำหนดเป็นช่วง ๆ ระหว่างวัน เช่น ก่อนเข้างานครึ่งชั่วโมง หลังทานข้าวอีกครึ่งชั่วโมง และหลังเลิกงาน เล่นก่อน 3 ทุ่ม หรือกำหนดไม่ให้ตัวเองใช้โทรศัพท์มือถือขณะทานข้าว หรือเข้าห้องน้ำ เป็นต้น หรือ หากิจกรรมอื่น ๆ ที่ตัวเองสนใจทำแทนการอยู่เฉย ๆ เพราะบางคนให้เหตุผลว่า การใช้งานโทรศัพท์ไม่ได้ติดมือถือ แต่เบื่อ ๆ ว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำ หากิจกรรมที่น่าสนใจ เช่นออกไปวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อ่านหนังสือ เป็นการทดแทนเวลาที่จะเสียไปกับโทรศัพท์มือถือแบบไร้ประโยชน์ได้

ดังนั้น เราควรต้องอยู่กับเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน รู้จักเลือกใช้ส่วนที่เป็นประโยชน์ และรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น ส่วนโทษภัยหรืออันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น เป็นสิ่งที่เราป้องกันได้ ที่สำคัญต้องใช้อย่างมีสติและถือคติปลอดภัยไว้ก่อนจะดีที่สุด เพราะฉะนั้น เพื่อน ๆ อย่าลืมมองหาความอุ่นใจ ป้องกันความเสี่ยงด้วย ”แผนประกันสุขภาพแฮปปี้ เฮลธ์ แคร์” แบบมีจำนวนเงินความรับผิดส่วนแรกจาก บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ที่จะให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพเหมาจ่ายตามความคุ้มครองสูงสุด Top up เมื่อค่ารักษาจากสวัสดิการไม่เพียงพอ พร้อมลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี* หากเพื่อน ๆ ท่านใดต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kgibsales@krungsri.com นะคะ แล้วพบกันกับ เพลิน.จิต ตามติดชีวิตอินเทรน์ได้ใหม่ ในครั้งถัดไปค่ะ ด้วยรักและห่วงใย :)