• หน้าแรก
  • ผลิตภัณฑ์
  • โปรโมชั่น
  • เพลินจิต
  • ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
คนรักรถยนต์

น้ำท่วมถ้าไม่อยากให้รถพัง ต้องฟังทางนี้!

วันที่เผยแพร่: 01 พ.ย. 64

ช่วงนี้สถานการณ์บ้านเรา  นอกจากโควิด 2019 แล้ว  ที่ยังคงน่าเป็นห่วงอีกเรื่องก็คงหนีไม่พ้นเรื่องอุทกภัย  ที่ในหลายๆ จังหวัดก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน 

จากข่าวต่างๆ ที่เราได้รับทราบ  บางคนไปเที่ยวต่างจังหวัดอยู่ดีๆ ใครจะไปคาดคิดว่าจะมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่  หรือ บางคนอยู่ในจังหวัดที่ไม่ได้มีน้ำท่วม  ไม่ทันได้ระแวดระวัง เกิดเหตุการณ์น้ำล้นบ้าง น้ำป่าไหลหลาก  น้ำระบายไม่ทัน  และน้ำก็มาตอนช่วงเวลากลางคืน  ตื่นขึ้นมาอีกที รถอันเป็นที่รัก  ก็ถูกน้ำท่วมไปซะแล้ว  ซึ่งในส่วนนี้ทางแอดมินก็ได้ประสบเหตุการณ์ด้วยตัวเอง  จึงอยากจะมาแชร์บอกเล่า  เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์กับทุกท่าน  หากต้องมาเจอสถานการณ์เดียวกันกับทางแอดมิน  หลังจากน้ำลดแล้วหรือยกรถพ้นจากพื้นที่น้ำท่วมแล้ว  แอดมิน เพลิน.จิต ตามคิดชีวิตอินเทรนด์  มีข้อแนะนำที่ควรทำต่อไปนี้

1. ล้างรถ

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การทำความสะอาดรถยนต์ทั้งคันด้วยการล้าง ซึ่งคำว่าทั้งคันนั้นไม่เพียงแค่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภายในด้วย เช่น ใต้ท้องรถและซุ้มล้อ โดยทำการฉีดน้ำเพื่อล้างเศษดินทราย เศษไม้ ใบไม้ หญ้าแห้ง หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ติดอยู่ออก เพราะเศษใบไม้หรือหญ้าแห้งนั้น ถือเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี หากเครื่องยนต์ร้อนอาจจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้นั่นเอง

2. เปิดประตูรถค้างไว้

หากรถยนต์เจอน้ำท่วมนาน ๆ แน่นอนว่าน้ำจะต้องซึมเข้าห้องโดยสารแน่นอน ทำให้คุณจำเป็นต้องเปิดประตูรถยนต์ทุกบาน เพื่อให้มีลมโกรกเข้าไปยังห้องโดยสาร ให้อากาศได้ถ่ายเท โดยต้องถอดพรมที่อยู่ในรถออกมาทำความสะอาดด้วย หากทิ้งเอาไว้อาจจะทำให้ห้องโดยสารมีกลิ่นเหม็นอับ และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคด้วย โดยหากสามารถจอดรถผึ่งแดดแรง ๆ เอาไว้ได้ จะยิ่งดี

3. ปลดแบตเตอรี่

ยังไม่ควรทำการสตาร์ทรถยนต์ทันที หลังจาก รถโดนน้ำท่วม ไม่ควรแม้แต่บิดกุญแจให้ไฟหน้าปัดติด สิ่งที่คุณต้องทำก่อนคือ เปิดฝากระโปรงหน้ารถ และปลดขั้วแบตเตอรี่ออก หรือหากว่าคุณรู้ล่วงหน้าว่าน้ำกำลังจะท่วม ก็ควรทำการถอดขั้วแบตเตอรี่เอาไว้ก่อนเลย เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของรถยนต์ และเครื่องยนต์จะเป็นการดีที่สุด

4. ปลดขั้วไฟฟ้า

ปลดทุกอย่างที่เป็นขั้วไฟฟ้าในห้องเครื่อง หากเป็นรถยนต์เครื่องเบนซิน ให้ใช้เครื่องเป่าลมเป่าไปที่หัวเทียนเพื่อไล่น้ำออก และทำการถอดหัวเทียนออก นอกจากนี้ แผงฟิวส์ ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่าง ๆ กล่องอีซียู ก็ต้องถอดออกมาตากแดดให้หมด และอย่าลืมฉีดสเปรย์ไล่ความชื้นทิ้งไว้บริเวณปลั๊กไฟหลังจากเป่าลมแล้วด้วย

5. เช็กน้ำมันเครื่อง

ตรวจเช็กน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และของเหลวต่าง ๆ ในห้องเครื่องรถยนต์ ว่ามีสีผิดปกติหรือไม่ หากเป็นสีน้ำตาลคล้ายชาดำเย็นแสดงว่ามีน้ำปะปน ต้องทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทันที ซึ่งหากคุณผู้อ่านสามารถทำได้เอง ควรรีบดำเนินการ เพื่อป้องกันสนิมที่จะมาเยือนรถยนต์สุดรักของคุณ แต่หากไม่มีความรู้ ต้องรีบส่งเข้าศูนย์หรืออู่โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีวิธีตรวจเช็กและดำเนินการที่ถูกต้องและละเอียดกว่า

เมื่อเพื่อนๆ แน่ใจแล้ว ว่าอุปกรณ์ทั้งหมดของรถที่ถูกถอดออกมาตากแดก และภายในเครื่องยนต์และห้องโดยสารแห้งสนิทแล้ว ให้ทำการประกอบกลับเข้าไปเช่นเดิม ยกเว้นหัวเทียนของเครื่องยนต์เบนซิน และหัวฉีดของเครื่องยนต์ดีเซล โดยให้ทำการยกแบตเตอรี่เข้าที่ก่อน จากนั้นทำการเสียบกุญแจบิดเพื่อให้ไฟหน้าปัดทำงาน แล้วตรวจดูว่ามีสัญญาณไฟเตือนปรากฎขึ้นมาหรือไม่ หากมีให้นำส่งเข้าศูนย์ซ่อมจะเป็นการดีที่สุด หรือหากไม่มีอะไรผิดปกติ ให้ประกอบหัวเทียนหรือหัวฉีดกลับเข้าที่ และสตาร์ทรถยนต์ได้ตามปกติ แต่หากเพื่อนๆ บางท่าน  เจอสถานการณ์ขับรถไป แล้วเจอน้ำท่วมขัง หรือมีความจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำท่วม ทางแอดมินก็มีข้อแนะนำในการขับรถลุยน้ำท่วมสูงอย่างไรให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงรถดับ และน้ำเข้ารถ ดังนี้

1.ประเมินสถานการณ์ก่อนลุยน้ำ

สำหรับรถยนต์แบบต่าง ๆ จะมีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (ground clearance) โดยประมาณ ดังนี้
- รถเก๋งเล็ก (รถเก๋งทั่วไป, รถอีโคคาร์, รถ MPV) ระดับต่ำสุดจากพื้นเฉลี่ย 14.5 เซนติเมตร
- รถกระบะเตี้ย, กระบะขนของ ระดับต่ำสุดจากพื้นเฉลี่ย 18 เซนติเมตร
- รถกระบะยกสูง ระดับต่ำสุดจากพื้นเฉลี่ย 22 เซนติเมตร
- รถอเนกประสงค์ (Mini SUV, SUV, PPV) ระดับต่ำสุดจากพื้นเฉลี่ย 22 เซนติเมตร

ตามที่กล่าวไปแล้วก็คือ หากเจอกับน้ำท่วมไม่สูงนัก ผู้ขับย่อมจะสามารถค่อย ๆ ขับรถผ่านจุดที่น้ำท่วมขังได้เลยโดยไม่มีปัญหา แต่หากระดับน้ำสูงกว่านั้น คือสูงถึงใต้ท้องรถ หรือท่วมถึงขอบประตูรถ หรือท่วมถึงปลายท่อไอเสีย นั่นหมายความว่าการขับรถต้องใช้ความระมัดระวังและวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งการขับรถลุยน้ำท่วมสูงมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

          1 ปิดแอร์ทันที เพราะหากเปิดแอร์ไว้พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำจะทำงาน ซึ่งเมื่อน้ำท่วมถึง พัดลมจะตีน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง อาจเกิดไฟช็อตและทำให้เครื่องยนต์ดับ แถมยังมีความเสี่ยงที่ใบพัดลมจะหักอีกด้วย

          2 ใช้เกียร์ต่ำ หากเป็นเกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1-2 เพราะรถต้องใช้แรงในการฝ่าน้ำ ควบคุมความเร็วรถให้ต่ำ รถเบาดับยากที่สุด ส่วนกรณีที่เป็นเกียร์อัตโนมัติก็ปรับตำแหน่งคันเกียร์มาที่ L (Low) เสมอ

          3 รักษาความเร็วต่ำให้สม่ำเสมอ หรือรักษารอบเครื่องยนต์ไว้ที่ 1,500-2,000 รอบต่อนาที ไม่ขับเร็วเพราะอาจทำให้เกิดคลื่นน้ำที่จะกระทบกับขอบทางเท้าหรือสิ่งกีดขวางอื่นแล้วย้อนกลับเข้ามาที่ตัวรถได้ นอกจากนี้การขับตามคันหน้าในระยะที่ปลอดภัยนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้สามารถคาดการณ์ลักษณะของพื้นผิวถนนที่จมอยู่ใต้น้ำได้ เรียกง่าย ๆ ว่าให้คันหน้าช่วยนำทางนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่แนะนำอย่างยิ่งสำหรับการขับรถลุยน้ำท่วมสูงก็คือ หากประเมินสถานการณ์แล้วพบว่ามีโอกาสที่จะต้องหยุดหรือจอดรถแช่น้ำ หรือเส้นทางที่จะผ่านมีน้ำท่วมสูงเป็นระยะทางไกลเกินไป ซึ่งแบบนี้ก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงที่รถจะดับหรือเกิดความเสียหายได้มากขึ้น และหากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเครื่องยนต์ดับในขณะที่แช่น้ำท่วมสูง ห้ามสตาร์ตเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด เพราะน้ำอาจจะเข้าสู่ระบบเครื่องยนต์ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย ถึงตอนนี้มีทางเลือกอย่างเดียวคือหาวิธีเข็นหรือลากรถไปอยู่ในบริเวณที่พ้นน้ำแล้วหาวิธีแก้ไขต่อไป

2.ข้อปฎิบัติหลังผ่านน้ำท่วมสูงมาได้

หลังจากสามารถขับรถฝ่ากระแสน้ำมาได้โดยที่รถไม่ดับกลางคัน ถือได้ว่ารอดจากสถานการณ์ไปได้ แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น ผู้ใช้รถยังควรที่จะมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อตรวจสอบและรักษารถยนต์เบื้องต้น ดังนี้

          - หลังจากขับลุยผ่านน้ำท่วมสูงได้แล้ว ในช่วงแรก ๆ ให้ใช้ความเร็วต่ำแล้วเหยียบเบรกย้ำ ๆ ไล่น้ำออกจากคาลิเปอร์-ผ้าเบรก ซึ่งจะเป็นการเช็กว่าระบบเบรกยังใช้งานได้ปรกติ และหลังจากนั้นควรขับรถต่อไปอีกสักระยะหรือประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นที่ค้างอยู่ในระบบต่าง ๆ ของรถและเครื่องยนต์

          - หากต้องการจอดเช็กรถหลังจากเพิ่งลุยน้ำห้ามดับเครื่องยนต์ เพราะต้องระวังน้ำที่ค้างและทำให้เกิดความชื้นในห้องเครื่อง รวมไปถึงท่อไอเสีย หากดับเครื่องทันทีอาจมีน้ำที่ค้างย้อนเข้าสู่ท่อได้

          - ดำเนินการตรวจสอบรถในส่วนอื่นต่อไป เช่น มีน้ำซึมเข้าห้องโดยสารหรือไม่ สีรอบตัวรถ หรือล้อและยางได้รับความเสียหายใด ๆ หรือเปล่า

          - หากรถมีอาการผิดปกติ เช่น เครื่องยนต์สั่น เดินไม่เรียบ เสียงดัง เร่งเครื่องไม่ขึ้น ควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกเหนือจากเราจะหาวิธีการป้องกันรถของเราได้ตามที่เราแนะนำข้างต้น  อีก 1 ช่องทางเลือกที่จะดูแลรถยนต์ของเราได้ ก็คือการทำประกันภัยรถยนต์  โดยเพื่อนๆ สามารถหาซื้อประกันรถยนต์ได้ตาม Link ด้านล่างนี้ได้เลยคะ

https://www.krungsribroker.com/motor/mov

ด้วยความปรารถนาดีจากพวกเรา เพลิน.จิต ตามคิดชีวิตอินเทรนด์  และฝากติดตาม Content ดีๆ จากพวกเราได้ใหม่นะคะ

 

 

แหล่งที่มา : https://www.moneyguru.co.th/car-care/articles/             

https://car.kapook.com/view158126.html