การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
ในชีวิตประจำวันของเราต้องพัวพันกับสารเคมีเยอะไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง สเปรย์กำจัดแมลง ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ แต่บางครั้งด้วยความที่เราอาจจะไม่ได้ระวัง หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี เลยทำให้เราได้รับสารเคมีนั้นๆ ในปริมาณเกินกว่าที่เหมาะสมกับสุขภาพ ซึ่งก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย ดังนั้นเราควรรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพชีวิตของเราเอง
ก่อนที่เราจะไปรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เราก็ควรรู้ไว้ก่อนว่าสารเคมีนั้นมีหลายประเภทแล้วแต่ละประเภทก็มีฤทธิ์เป็น กรด ด่าง แตกต่างกันไป หากได้รับเข้าไป ก็จะส่งผลต่อสุขภาพที่ต่างกัน ดังนั้นก่อนที่เราจะปฐมพยาบาลเราควรจะต้องประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ว่าเคมีนั้นๆ มีฤทธิ์หนักไปทางไหน และได้รับเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีใด
สารพิษ/สารเคมี เข้าสู่ร่างกายของคนเราได้อย่างไร?
โดยหลัก ๆ แล้วสารพิษ หรือ สารเคมี สามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่
1. การกิน
2. การสูดดม
3. การสัมผัส ซึ่งการสัมผัสนั้น อาจเป็นการสัมผัสทางผิวหนัง สัมผัสเข้าสู่ตาหรือเยื่อบุอื่น ๆ
สารพิษ หรือ สารเคมี ที่เรามีโอกาสจะสัมผัส ส่วนใหญ่อาจจะเป็นสารที่อยู่ในบ้านของเรา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน อย่างน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างท่อ (โซดาไฟ) นอกจากนั้น อาจเป็นกลุ่มยาฆ่าแมลงที่ใช้ตามบ้าน เช่น ยาฆ่ามด ยาฆ่ายุง หรือยาฆ่าปลวก
หากเป็นการใช้ทางด้านเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้าก็จะมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นสูง นอกจากนั้น ถ้าประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ก็มีโอกาสที่สัมผัสสารเคมีได้
อีกประเภทหนึ่งก็คือ กลุ่มคนไข้ที่ตั้งใจทำร้ายตัวเองโดยการกินยา หรือสารเคมีเกินขนาด ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับสารพิษได้
อาการที่จะแสดงเมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
· อาการโดยเบื้องต้นทั่วไป คือ จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือที่ปาก ปวดศีรษะ มึนงง หนาว มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจ ลำบาก หายใจตื้นและถี่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
· ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือได้รับสารพิษในปริมาณมากๆ จะมีอาการดังนี้ ชักกระตุก กล้ามเนื้อเกร็ง ปัสสาวะ อุจจาระราด หมดสติ หากไม่นำส่งแพทย์อย่างเร่งด่วนอาจจะเสียชีวิตได้
1 เมื่อได้รับสารพิษผ่านการกิน
ถ้าเราได้รับสารพิษโดยวิธีการกินถ้ามีอาการผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากมีอาการรุนแรง เช่น ซึม หมดสติ หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ให้โทรเบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้มีทีมรถพยาบาลมาดูแลที่จุดเกิดเหตุ
กรณีที่สารพิษอาจจะเปื้อนเสื้อผ้า หรือเปรอะเปื้อนตามผิวหนัง ระหว่างที่เรารอรถพยาบาลมา เราอาจถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสกับตัวผู้ป่วย อาจจัดผู้ป่วยให้นอนตะแคง เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ เพื่อรอรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
#วิธีการที่ไม่แนะนำ
ไม่ควรล้วงคอ หรือทำให้อาเจียนด้วยวิธีการอื่น เช่น การกินไข่ขาว ให้น้ำ หรือนมในปริมาณมาก ๆ เพื่อหวังเจือจาง เพราะสารพิษบางชนิด หากยิ่งทำวิธีการเหล่านี้ จะยิ่งทำให้เกิดพิษต่อผู้ป่วยมากขึ้นและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงวิธีการต่างๆเหล่านี้
2 เมื่อได้รับสารพิษสัมผัสเข้าสู่ตาหรือทางผิวหนัง
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีผ่านผิวหนัง
- ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีและเปลี่ยนเป็นชุดอื่นทันที
- ล้างผิวหนังที่มีการสัมผัสกับสารเคมีด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
- หากสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ล้างซ้ำๆ นาน 15 นาที
- วิธีการปฐมพยาบาลในกรณีนี้ ให้เปิดน้ำหรือล้างตาด้วยน้ำที่ไหลผ่านตลอด เช่น สายยางเพื่อล้างตาตลอดเวลา กรณีที่ล้างในภาชนะ อาจทำให้สารพิษลงไปในอ่าง เมื่อเราลืมตาก็อาจจะได้รับสารพิษต่อเนื่อง เน้นว่า ล้างด้วยน้ำที่ไหลผ่าน เพื่อชำระล้างเอาสารพิษออก จนกว่ารู้สึกว่าอาการระคายเคืองลดลง หรือถ้าโทร 1669 แล้วรถพยาบาลยังไม่มา ให้เราล้างจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
- อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
รีบนำตัวส่งแพทย์ทันทีหลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จ
3 เมื่อได้รับสารพิษผ่านการสูดดม
โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแก๊ส วิธีการปฐมพยาบาล คือ ต้องนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษนั้น คำแนะนำก็คือ ผู้ที่เข้าไปช่วยผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์การป้องกันตัวที่พร้อมก่อน
บางกรณีที่เราจะเห็นข่าว คือ คนลงไปทำความสะอาดบ่อเกรอะ เมื่อคนแรกลงไป แล้วคนที่สองลงไปก็หมดสติตาม เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดในบริเวณนั้นมีแก๊สพิษ แล้วเราเข้าไปช่วยคนไข้ก็อาจจะได้รับแก๊สพิษด้วย เราอาจจะต้องประเมินสถานที่ที่เราจะเข้าไปเพื่อนำตัวผู้ป่วยออกมาว่าปลอดภัยหรือไม่
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีผ่านการสูดดม
- รีบย้ายออกมาในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์
- หากอาการไม่รุนแรงควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการสูดดมสารเคมี
- ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ผายปอดและนวดหัวใจ
- รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ทั้งนี้วิธีการที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทั่วไปคือ โทร 1669 อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีสารพิษนั้น เพราะจะทำให้เราได้รับสารพิษด้วย ให้บุคลากรทางการแพทย์มาช่วยชีวิตผู้ป่วยจากบริเวณนั้นจะดีที่สุด
กรณีที่เรามีสารเคมีอยู่ในบ้าน
อาจจะเป็นกรดด่างหรือสารกัดกร่อนที่เรารู้ว่าน่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือต่อร่างกายต้องแยกเก็บสารเคมีกลุ่มนี้อยู่ในภาชนะเฉพาะไม่แนะนำให้ใช้ภาชนะที่ใส่อาหารไปบรรจุสารเคมีเหล่านี้ และที่สำคัญคือ “เก็บให้พ้นมือเด็ก” เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเข้าไปหยิบ สัมผัส หรือกินเข้าไปได้
ข้อควรปฏิบัติในการเก็บสารเคมี
1. เก็บน้ำยาเคมีภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านหรืออาจเกิดอันตรายให้พ้นมือเด็ก
2. จัดข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะปนกันกับสารเคมีอันตราย
3. อ่านฉลากและข้อควรระวังก่อนใช้งานทุกครั้ง
4. หลังการใช้งานให้เก็บเข้าที่ทันที และทำความสะอาดร่างกาย
ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายภาชนะของเคมีภัณฑ์ทุกชนิด เพราะบรรจุภัณฑ์ต่างๆได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรจุสารเคมีนั้นๆโดยเฉพาะ
สรุป หากมีความคิดว่าจะใช้สารเคมีแล้วหล่ะก็ ต้องระมัดระวังให้มาก เพื่อชีวิตและสุขภาพเราเองด้วยนะคะ นอกเหนือจากนั้นน้อง Fuku อยากให้ทุกท่าน มองหาประกันสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รับมือกันไว้แต่ต้นๆ นะคะ หากท่านไหนสนใจ ลองเข้ามาเลือกดูความคุ้มครองต่างๆ ตาม Link นี้ได้เลยคะ
https://www.krungsribroker.com/health-insurance
แหล่งที่มา
https://www.posttoday.com/lifestyle/
https://thestandard.co/sniffing-chemicals-first-aid-method/
https://www.doctorplouk.com/archives/
เรียบเรียงบทความโดย : น้อง Fuku